พระพุทธรูปแห่งบามิยัน อดีตความรุ่งเรืองของพุทธศาสนา
คุณผู้อ่านจำพระพุทธรูปแห่งบามิยันซึ่งเป็นพระพุทธรูปขนาดมหึมาที่ประดิษฐานอยู่บนผาหินในเมืองบามิยัน มาตั้งแต่ศตวรรษที่ 6 แต่ถูกกลุ่มตอลีบันระเบิดทำลายเสียหายเมื่อปี 2544 ได้ไหมครับ เดิมทีตอนที่พระสงฆ์ซึ่งอาศัยอยู่ที่หุบเขาบามิยันสร้างพระพุทธรูปแห่งบามิยันไว้นั้น เหล่าพระสงฆ์ยังได้ขุดถ้ำไว้หลายแห่ง เพื่อเป็นสถานที่นั่งทำสมาธิอย่างสันโดษ
แต่ตอนนี้ถ้ำเหล่านั้นกลายเป็นที่อยู่อาศัยของชาวอัฟกันราว 700 ครัวเรือนที่ไม่มีปัญญาซื้อที่ดินปลูกบ้านอยู่เอง ชาวบ้านบางครอบครัวอยู่ที่นั่นมานานหลายปี เด็ก ๆ เกิดกันอยู่ในถ้ำ เติบโตขึ้นมาก็ไม่ได้ไปโรงเรียน เพราะสักแห่งที่อยู่ใกล้ถ้ำ ความยากจนยังทำให้พ่อแม่ต้องการให้เด็ก ๆ ช่วยทำงานหาเงิน
หลายปีก่อนทางการท้องถิ่นเคยพยายามย้ายคนถ้ำเหล่านี้ไปอยู่ที่อื่น ให้ที่ดินทำกิน แต่คนถ้ำบอกว่าไกลเกินไป น้ำกินน้ำใช้ก็ไม่มี ที่สำคัญไม่มีใครมีเงินจะปลูกบ้านบนที่ดินที่ได้มา
ถ้ามองในแง่ของทางการท้องถิ่นเอง การที่ชาวบ้านอาศัยอยู่ในถ้ำนานแค่ไหน ก็จะยิ่งสร้างความเสียหายแก่หุบเขาบามิยันมากเท่านั้น เพราะนอกจากชาวบ้านจะติดประตู หน้าต่าง สร้างเป็นที่พักชั่วคราวกันแล้ว ยังติดจานดาวเทียมและแผงโซลาร์ผลิตไฟฟ้าใช้กันด้วย
แต่นั่นไม่ใช่ปัญหาเดียวที่เกิดกับมรดกทางประวัติศาสตร์ผืนนี้ เพราะโพรงในหน้าผาหินทรายจุดที่พระพุทธรูปองค์ใหญ่เคยประดิษฐานอยู่และถูกกลุ่มตอลีบานใช้ระเบิดไดนาไมต์ทำลายนั้น กำลังเกิดรอยแตกร้าวโดยรอบ จนน่ากลัวว่าจะถล่มลงมาไม่วันใดก็วันหนึ่ง ตอนนี้องค์การยูเนสโกที่เข้าไปอนุรักษ์พื้นที่สามารถปะติดปะต่อชิ้นส่วนพระพุทธรูปองค์เล็กกว่าที่หลงเหลืออยู่ให้ประดิษฐานอยู่ในโพรงหินทรายได้สำเร็จ แต่สำหรับพระพุทธรูปองค์ใหญ่นั้นไม่เหลือชิ้นส่วนให้นำมาปะติดปะต่อได้อีก แต่ถึงอย่างนั้นยูเนสโกจะต้องใช้เวลาอีกสองปีกว่าจะฟื้นฟูสถานที่ที่เคยเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปองค์ใหญ่ได้สำเร็จ ในระหว่างนี้คงจะได้เห็นการเผชิญหน้ากันเนือง ๆ ระหว่างคนถ้ำกับเจ้าหน้าที่ทางการ
เมืองบามิยันได้รับเลือกให้เป็นเมืองหลวงแห่งวัฒนธรรมของเอเชียใต้ในปีหน้า สำหรับคนอัฟกันเองหวังจะเห็นเมืองนี้มีฐานะเป็นเมืองจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยวอย่างที่เคยเป็นมาก่อน และอีกหลายคนคงหวังว่าท้ายที่สุดรัฐบาลอาฟกานิสถานคงจัดหาที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมให้คนถ้ำเหล่านี้ได้อยู่อาศัย